การทำงาน ของ เพรียบ หุตางกูร

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เพรียบได้เข้ารับราชการในรัฐบาลไทย หน้าที่การงานแรกคือ อัยการฝึกหัด กองคดี กรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2480[1] ต่อมาจึงย้ายไปเป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดนครนายก กระทั่งสอบเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมได้เมื่อปี 2486[2]

ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่ง เพรียบจึงได้ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดระนอง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชุมพร และผู้พิพากษาศาลจังหวัดราชบุรี[2] จากนั้น จึงได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดราชบุรี แล้วย้ายไปเป็นยังศาลจังหวัดยโสธร ศาลแขวงลพบุรี และศาลจังหวัดลพบุรี ตามลำดับ[2]

ต่อมา เพรียบได้ย้ายกลับเข้าดำรงตำแหน่งในกรุงเทพมหานคร โดยเป็นผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลแพ่ง และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์[2] กระทั่งเลื่อนขึ้นเป็นผู้พิพากษาหัวหน้า คณะในศาลอุทธรณ์[2] และในปี 2512 ก็ได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 (จังหวัดนครราชสีมา) และผู้พิพากษาศาลฎีกา[1] ครั้นปี 2516 ได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งนั้นจนเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาการ 2516[1]

หลังเกษียณ เพรียบได้เป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะมรดกที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเพรียบกล่าวว่า[3]

"ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ผู้เขียนไม่ได้สนใจกฎหมายลักษณะนี้นัก จะไม่ชอบเอาเสียด้วยซ้ำ เมื่อยังเป็นผู้พิพากษา ผู้เขียนได้พิจารณาคดีเกี่ยวกับมรดกเพียงไม่กี่เรื่อง ตัวบทในลักษณะมรดกจึงผ่านสายตาของผู้เขียนน้อยครั้งเต็มที นับว่าขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้อยู่มาก เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำการสอน แรก ๆ จึงรู้สึกหนักใจพอสมควร...เมื่อผู้เขียนได้ทำการสอนวิชานี้มาเป็นเวลานาน ผู้เขียนก็พอจะเข้าใจความมุ่งหมายในตัวบทของกฎหมายลักษณะนี้ขึ้นมาบ้างพอสมควร ทำให้เกิดความสนุกในทางคิดแก้ปัญหาที่มีอยู่ ความรู้สึกที่เคยเกลียดวิชานี้กลับกลายเป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้าม..."

เพรียบสอนกฎหมายลักษณะมรดกอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงปี 2521[4]

ใกล้เคียง